ข่าวสาร

ขาดแคลน "หมอดมยา" ผ่าตัด

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 29 ต.ค. 2557 19:45
 
วิสัญญีแพทย์ ถือเป็นอีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญมากในขั้นตอนการผ่าตัดแต่ละครั้ง โดยจะต้องเตรียมความพร้อมผู้ป่วย ต้องทราบว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และเพื่อสร้างความมั่นใจผู้ป่วยจะต้องเข้าตรวจอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัด จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ให้ยาสลบ ซึ่งชนิดยาสลบที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีแบบฉีดและแบบไอระเหย
ประเภทของยาดมสลบที่นิยมใช้จะมี ซีโวฟลูเรน ไอโซ่ฟลูเรน เดดฟลูเรน ซึ่งยาดมสลบทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นแบบไอระเหย ต้องให้ผ่านเครื่องจ่ายไอระเหย ซึ่งสามารถปรับความเข้มข้นของยาที่จะให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้ และอีกส่วนก็เป็นยาดมสลบชนิดแก๊ส ที่มีการเติมออกซิเจน และอากาศ เพื่อให้ได้ส่วนประกอบที่เหมาะสำหรับผู้ป่วย โดยจะต้องเปิดเครื่องใ้ห้ยาสลบตลอดเวลาระหว่างการผ่าตัด โดยวิสัญญัญีแพทย์จะต้องดูแลคนไข้ตลอดการผ่าตัด เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับความดัน หัวใจ และการอิ่มตัวของออกซิเจน ผ่านเครื่องติดตามเฝ้าระวัง เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด คนไข้จะฟื้นภายใน 10 ถึง 15 นาที
แต่สำหรับคลินิกที่เปิดให้บริการศัลยกรรมต่างๆส่วนใหญ่ ไม่มีวิสัญญีแพทย์ที่จะให้ยานำสลบหรือดูแลผู้ป่วยขณะผ่าตัด จึงมักเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
โดยปกติแล้วการให้ยานำสลบแก่ผู้ป่วยต้องเป็นวิสัญญีแพทย์และวิสัญญีพยาบาลเท่านั้น เพราะการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่นบางคนให้ยาเพื่อต้องการให้หลับแต่กลับหมดสติ และไปกดการหายใจ
แต่หากมีวิสัญญีแพทย์อยู่ในห้องผ่าตัดด้วย ก็จะเห็นความผิดปกติและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที แต่สำหรับคลินิกต่างๆที่เปิดทำหัตถการเล็กๆและใช้ระยะไม่นาน สามารถใช้ยาเพื่อให้หลับเพราะหมอสามารถดูแลเบื้องต้นได้ แต่หากมีการให้ยาระงับความรู้สึก ควรมีวิสัญญีแพทย์ เนื่องจากเป็นแพทย์เฉพาะทางสำหรับการให้ยาสลบโดยเฉพาะ
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวิสัญญีแพทย์ 1 พันกว่าคนนั้น ซึ่งถือว่ายังขาดแคลน เพราะโดยปกติห้องผ่าตัด 1 ห้อง จะต้องมีวิสัญญีแพทย์ 1 คน ซึ่งระหว่างที่ศัลยแพทย์กำลังผ่าตัดวิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาลต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆอยู่ตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น